วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Foreign relations and military


ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

                ประเทศญี่ปุ่นและไทยมีความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 600 ปี ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 ความร่วมมือระหว่างกันของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเติบโตขึ้นจากการขยายตัวกิจการของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยนับแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นในพุทธทศวรรษที่ 2520) การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยนับเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย (รองจากจีน และทำให้มีชาวญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก[66] ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย ทั้งสองประเทศมีการทำข้อตกลงทวิภาคีหลายข้อ เช่นข้อตกลงความร่วมมือทางเทคโนโลยี (JTPP: Japan- Thailand Partnership Programme in Technical Cooperation) การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA:Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) เป็นต้น จากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศที่จัดทำในเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น พบว่าคนไทยร้อยละ 98 เห็นว่าญี่ปุ่นคือมิตรประเทศ


นโยบายต่างประเทศและการทหาร

                ญี่ปุ่นรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางทหารกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรหลัก โดยมีความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นเสาหลักของนโยบายต่างประเทศ ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 1956 ได้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวม 9 ครั้ง (ล่าสุดเมื่อปี 2005-2006) และยังเป็นหนึ่งในกลุ่ม G4 ซึ่งมุ่งหวังจะเข้าเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ญี่ปุ่นซึ่งเป็นสมาชิกของ จี 8และเอเปค มีความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของต่างประเทศและกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) รายใหญ่ของโลก โดยบริจาค 7.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2007 จากการสำรวจของบีบีซีพบว่านอกจากประเทศจีนและเกาหลีใต้แล้ว ประเทศส่วนใหญ่มองอิทธิพลของญี่ปุ่นที่มีต่อโลกในเชิงบวก

                ญี่ปุ่นมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องสิทธิในดินแดนต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กับรัสเซียเรื่องเกาะคูริล กับเกาหลีใต้เรื่องหินลีอังคอร์ท (หรือทะเกะชิมะ ในภาษาญี่ปุ่น) กับจีนและไต้หวันเรื่องหมู่เกาะเซ็งกะกุ กับจีนเรื่องเขตเศรษฐกิจจำเพาะรอบ ๆ โอะกิโนะโทะริชิมะ เป็นต้น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังคงมีปัญหากับเกาหลีเหนือกรณีการลักพาตัวชาวญี่ปุ่นและเรื่องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องเกาะคูริล ในทางกฎหมายแล้วญี่ปุ่นยังคงทำสงครามอยู่กับรัสเซีย เพราะไม่เคยมีการลงนามในข้อตกลงใด ๆ เกี่ยวกับปัญหานี้

                สำหรับกองทัพญี่ปุ่นนั้นจะเรียกว่ากองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วยกองกำลังป้องกันตนเองทางบก กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล และ กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ กองกำลังของญี่ปุ่นถูกส่งไปเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศอิรักใน พ.ศ.2547-2549 ซึ่งนับเป็นการปฏิบัติการของกองทัพในต่างประเทศครั้งแรกตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม การส่งกองกำลังไปยังอิรักนี้ถูกต่อต้านจากประชาชนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น