สันนิษฐานว่ามนุษย์มาอาศัยในญี่ปุ่นครั้งแรกตั้งแต่ยุคหินเก่า
เมื่อประมาณ 35,000 ปีก่อนพุทธศักราช หลังจากนั้นยุคโจมงก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ
10,000 ปีก่อนพุทธศักราช
ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ มีการพัฒนาวิธีการล่าสัตว์โดยใช้คันธนูและลูกธนู
ตลอดจนมีการผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่อาหารและเก็บรักษาอาหาร
คำว่าโจมงในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าลายเชือกซึ่งมาจากลวดลายเชือกบนภาชนะในยุคนั้นที่ค้นพบในช่วงแรก
ยุคยะโยะอิ
เริ่มเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช
เป็นยุคที่ผู้คนเริ่มเรียนรู้วิธีการปลูกข้าว การตีโลหะ
ซึ่งได้รับความรู้มาจากผู้อพยพชาวจีนแผ่นดินใหญ่ การกล่าวถึงญี่ปุ่นครั้งแรกปรากฏขึ้นในบันทึกของราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น
โฮ่วฮั่นชู (後漢書) ในปี 57 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเรียกชาวญี่ปุ่นว่า
วะ (倭)
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8
อาณาจักรที่ทรงอำนาจมากที่สุดในญี่ปุ่นคือยะมะไทโคะกุ (邪馬台国) ปกครองโดยราชินีฮิมิโกะ
ซึ่งเคยส่งคณะทูตไปยังประเทศจีนผ่านทางเกาหลีด้วย
ยุคเริ่มอารยะธรรมญี่ปุ่น
ยุคโคะฮุง
ซึ่งตั้งชื่อตามสุสานที่นิยมสร้างขึ้นกันในยุคดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่
9 จนถึง 12
เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการปกครองแบบราชวงศ์ ซึ่งศูนย์กลางการปกครองนั้นอยู่บริเวณเขตคันไซ
ในยุคนี้พระพุทธศาสนาได้เข้ามาจากคาบสมุทรเกาหลีสู่หมู่เกาะญี่ปุ่น แต่พระพุทธรูปและพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นหลังจากนั้นได้รับอิทธิพลจากจีนเป็นหลัก เจ้าชายโชโตะกุทรงส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน
ญี่ปุ่นจึงได้รับนวัตกรรมใหม่ ๆ จากแผ่นดินใหญ่มาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้
ยังทรงตรารัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรา ซึ่งเป็นกฎหมายญี่ปุ่นฉบับแรกอีกด้วย และในที่สุดพระพุทธศาสนาก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นตั้งแต่สมัยอะซึกะ
ยุคนะระ
(พ.ศ. 1253-1337) เป็นยุคแรกที่มีการก่อตัวเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง
มีการปกครองอย่างมีระบบให้เห็นได้อย่างชัดเจน
โดยการนำระบอบการปกครองมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ศูนย์กลางการปกครองในขณะนั้นก็คือ เฮโจเกียว
หรือจังหวัดนะระในปัจจุบัน ในยุคนะระเริ่มพบการเขียนวรรณกรรมเช่นโคจิกิ (พ.ศ. 1255)
และนิฮงโชะกิ (พ.ศ. 1263) เมืองหลวงถูกย้ายไปที่นะงะโอกะเกียวเป็นช่วงเวลาสั้น
ๆ และถูกย้ายอีกครั้งไปยังเฮอังเกียว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอัง
ระหว่าง
พ.ศ. 1337 จนถึง พ.ศ. 1728
ซึ่งเป็นยุคเฮอังนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคทองของญี่ปุ่น
เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเองเริ่มพัฒนาขึ้น
สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดมากที่สุดคือ การประดิษฐ์ตัวอักษร ฮิระงะนะ
ซึ่งทำให้เกิดวรรณกรรมที่แต่งโดยตัวอักษรนี้เป็นจำนวนมาก เช่นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่
16 ได้มีการแต่งนวนิยายเรื่องนิทานเก็นจิ (源氏物語) ขึ้น
ซึ่งเป็นนิยายที่บรรยายเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การปกครองของตระกูลฟุจิวะระ
และบทกลอนที่ถูกใช้เป็นเนื้อเพลงของเพลงชาติญี่ปุ่น คิมิงะโยะ
ก็ถูกแต่งขึ้นในช่วงนี้เช่นเดียวกัน
ยุคศักดินา
ยุคศักดินาญี่ปุ่นเริ่มต้นจากการที่ผู้ปกครองทางการทหารเริ่มมีอำนาจขึ้น
พ.ศ. 1728 หลังจากการพ่ายแพ้ของตระกูลไทระ มินะโมะโตะ
โนะ โยะริโตะโมะ ได้แต่งตั้งตนเองเป็นโชกุน และสร้างรัฐบาลทหารในเมืองคะมะกุระ
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคคะมะกุระซึ่งมีการปกครองแบบศักดินา
แต่รัฐบาลคามากุระก็ไม่สามารถปกครองทั้งประเทศได้
เพราะพวกราชวงศ์ยังคงมีอำนาจอยู่ในเขตตะวันตก
หลังจากการเสียชีวิตของโชกุนโยริโตโมะ
ตระกูลโฮโจได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน
รัฐบาลคะมะกุระสามารถต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลใน พ.ศ. 1817
และ พ.ศ. 1824 โดยได้รับความช่วยเหลือจากพายุกามิกาเซ่ซึ่งทำให้กองทัพมองโกลประสบความเสียหายอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม
รัฐบาลคะมะกุระก็อ่อนแอลงจากสงครามครั้งนี้
จนในที่สุดต้องสูญเสียอำนาจให้แก่จักรพรรดิโกะ-ไดโกะ ผู้ซึ่งพ่ายแพ้ต่ออะชิกะงะ
ทะกะอุจิในเวลาต่อมาไม่นาน อะชิกะงะ
ทะกะอุจิย้ายรัฐบาลไปตั้งไว้ที่มุโระมะชิ จังหวัดเคียวโตะ
จึงได้ชื่อว่ายุคมุโระมะชิ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20
อำนาจของโชกุนเริ่มเสื่อมลงและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น
เพราะบรรดาเจ้าครองแคว้นต่างทำสู้รบเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่
ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสงครามที่เรียกว่ายุคเซ็งโงะกุ
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่
21
มีพ่อค้าและมิชชันนารีจากโปรตุเกสเดินทางมาถึงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
และเริ่มการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตก
(การค้านัมบัน) สงครามดำรงอยู่หลายสิบปี จนโอะดะ
โนะบุนะงะเอาชนะเจ้าครองแคว้นอื่นหลายคนโดยใช้เทคโนโลยีและอาวุธของยุโรปและเกือบจะรวมประเทศญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้แล้วเมื่อเขาถูกลอบสังหารใน
พ.ศ. 2125 โทะโยะโตะมิ
ฮิเดะโยะชิผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมาสามารถปราบปรามบ้านเมืองให้สงบลงได้ใน พ.ศ. 2133
ฮิเดะโยะชิรุกรานคาบสมุทรเกาหลีถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
จนเมื่อเขาเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2141 ญี่ปุ่นก็ถอนทัพ
หลังจากฮิเดะโยะชิเสียชีวิต
โทะกุงะวะ
อิเอะยะซุแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการให้แก่ลูกชายของฮิเดะโยะชิ
โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะริ เพื่อที่จะได้อำนาจทางการเมืองและการทหาร
อิเอะยะซุเอาชนะไดเมียวต่าง ๆ ได้ในยุทธการเซะกิงะฮะระใน พ.ศ. 2143
จึงขึ้นเป็นโชกุนใน พ.ศ. 2146 และก่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่นครเอะโดะ
ยุคเอะโดะจึงเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะได้ใช้วิธีหลายอย่าง เช่น
บุเกโชฮัตโต เพื่อควบคุมไดเมียวทั้งหลาย ใน พ.ศ. 2182
รัฐบาลเริ่มนโยบายปิดประเทศและใช้นโยบายนี้อย่างไม่เข้มงวดนักต่อเนื่องถึงประมาณสองร้อยห้าสิบปี
ในระหว่างนี้
ญี่ปุ่นศึกษาเทคโนโลยีตะวันตกผ่านการติดต่อกับชาวดัตช์ที่สามารถเข้ามาที่เกาะเดจิมะ
(ในจังหวัดนะงะซะกิ) เท่านั้น ความสงบสุขจากการปิดประเทศเป็นเวลานานทำให้ชนที่อยู่ใต้อำนาจปกครองอย่างเช่นชาวเมืองได้มีโอกาสที่จะประดิษฐ์สิ่งใหม่
ๆ ขึ้นมาในทางของตนเอง
ในยุคเอะโดะนี้ยังมีการเริ่มต้นการให้ศึกษาประชาชนเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
แต่ญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากประเทศตะวันตกให้เปิดประเทศอีกครั้ง
ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2394
นาวาเอก (พิเศษ) แมทธิว เพอร์รี่
และเรือดำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาบุกมาถึงญี่ปุ่นเพื่อบังคับให้เปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ต้องทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ
ซึ่งสนธิสัญญาเหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
เพราะการเปิดประเทศและให้สิทธิพิเศษกับชาวต่างชาติทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจต่อรัฐบาลเอะโดะ
และเกิดกระแสเรียกร้องให้คืนอำนาจอธิปไตยแก่องค์จักรพรรดิ
(ซึ่งมักเรียกว่าการปฏิรูปเมจิ) จนในที่สุดรัฐบาลเอะโดะก็หมดอำนาจลง
ยุคใหม่
ในยุคเมจิ
รัฐบาลใหม่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้ย้ายฐานอำนาจขององค์จักรพรรดิมายังเอโดะ
และเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากเอโดะเป็นโตเกียว
มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองตามแบบตะวันตก เช่นบังคับใช้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2443
และก่อตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยใช้ระบบสองสภา นอกจากนี้
จักรวรรดิญี่ปุ่นยังสนับสนุนการรับเอาวิทยาการจากประเทศตะวันตก และทำให้มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มมีความขัดแย้งทางทหารกับประเทศข้างเคียงเมื่อพยายามขยายอาณาเขต
หลังจากที่ได้ชัยชนะในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2437-2438) และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
(พ.ศ. 2447-2448) ญี่ปุ่นก็ได้อำนาจปกครองไต้หวัน เกาหลี
และตอนใต้ของเกาะซาคาลิน
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายไตรภาคี
ผู้ชนะ สามารถขยายอำนาจและอาณาเขตต่อไปอีก
ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายขยายดินแดนต่อไปโดยการครอบครองแมนจูเรียใน พ.ศ. 2474
และเมื่อถูกนานาชาติประณามในการครอบครองดินแดนนี้
ญี่ปุ่นก็ลาออกจากสันนิบาตชาติในสองปีต่อมา ในปี
1936
ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับนาซีเยอรมนี และเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในปี
1941
ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างอำนาจทางการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
หลังจากญี่ปุ่นถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา
ต่อมาจึงได้เปิดฉากสงครามในแถบเอเชียแปซิฟิก (ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ
สงครามมหาเอเชียบูรพา) ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484
โดยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล
และการยาตราทัพเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์
ตลอดสงครามครั้งนั้น ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด
แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้แก่สหรัฐอเมริกาในการรบทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากยุทธนาวีแห่งมิดเวย์
(พ.ศ. 2485) ญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยง่าย
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนะงะซะกิ (ในวันที่ 6
และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488
ตามลำดับ) และการรุกรานของสหภาพโซเวียต (วันที่ 8
สิงหาคม พ.ศ. 2488) ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่
15 สิงหาคม ปีเดียวกัน สงครามทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียพลเมืองนับล้านคนและทำให้อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียหายอย่างหนัก
ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลเอกดักลาส
แมกอาร์เธอร์เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามจบ
ใน
พ.ศ. 2490
ญี่ปุ่นเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเน้นเรื่องประชาธิปไตยอิสระ
การควบคุมญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรสิ้นสุดเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกใน
พ.ศ. 2499 และญี่ปุ่นได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 1956
หลังจากสงครามญี่ปุ่นสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากจนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
แต่การเติบโตก็หยุดในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530
เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังฟองสบู่แตก เศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปีมีทีท่าว่าจะฟื้นตัวขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่
26 แต่กลับประสบปัญหาอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินใน
พ.ศ. 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น