วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Government and politics


การเมืองการปกครอง

                ประเทศญี่ปุ่นมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา องค์จักรพรรดิไม่ทรงปกครองประเทศ พระองค์มีพระราชอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นให้ไว้ องค์จักรพรรดิมิได้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำในทางพิธีการ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติว่า ทรงเป็น "สัญลักษณ์แห่งประเทศและแห่งความสามัคคีของชนในรัฐ สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบัน คือ จักรพรรดิอะกิฮิโตะ ส่วนรัชทายาทคือเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร อำนาจการปกครองส่วนใหญ่นั้นตกอยู่แก่นายกรัฐมนตรี และสมาชิกคนอื่น ๆ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวญี่ปุ่น

                องค์กรนิติบัญญัติของญี่ปุ่น คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งใช้ระบบระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร  เป็นสภาล่าง มีสมาชิกสี่ร้อยแปดสิบคนซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปี และมนตรีสภา เป็นสภาสูง มีสมาชิกสองร้อยสี่สิบสองคนซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งหกปี โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกมนตรีสภาจำนวนครึ่งหนึ่งสลับกันไปทุกสามปี สมาชิกของสภาทั้งสองมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์เป็นต้นไป พรรคเสรีประชาธิปไตยเป็นพรรครัฐบาลมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งพรรคใน พ.ศ. 2498 จนในปี พ.ศ. 2552 พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้ง จึงทำให้พรรคเสรีประชาธิปไตยเสียตำแหน่งพรรครัฐบาลซึ่งครองมายาวนานกว่า 54 ปี

                สำหรับอำนาจบริหารนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลือกสมาชิกด้วยกันมาหนึ่งคนให้เป็น นายกรัฐมนตรี แล้วองค์จักรพรรดิจึงทรงลงพระนามาภิไธยรับรองการแต่งตั้งนั้น ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรีและให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายโยะชิฮิโกะ โนะดะ

                ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางประวัติศาสตร์จากกฎหมายของจีน และมีพัฒนาการเฉพาะตัวในยุคเอโดะผ่านทางเอกสารต่าง ๆ เช่น ประชุมราชนีติ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษ 2400 เป็นต้นมา ได้มีการวางรากฐานระบบตุลาการในญี่ปุ่นขนานใหญ่โดยใช้ระบบซีวิลลอว์ของยุโรป โดยเฉพาะของฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นต้นแบบ เช่น ใน พ.ศ. 2439 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง โดยมีประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันเป็นต้นแบบ และคงมีผลใช้บังคับอยู่นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปัจจุบัน

                กฎหมายสูงสุดแห่งรัฐ คือ รัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายหลักของญี่ปุ่นเรียกประมวลกฎหมายทั้งหก มีสภาพเป็นประมวลกฎหมายที่สำคัญหกฉบับ บรรดากฎหมายแม่บทของญี่ปุ่นมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ตรา องค์จักรพรรดิเป็นผู้ทรงประกาศใช้โดยต้องทรงประทับพระราชลัญจกรในประกาศด้วย ทั้งนี้ โดยนิตินัยแล้ว องค์จักรพรรดิไม่มีพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย ศาลญี่ปุ่นนั้นมีระบบเดียว คือ ศาลยุติธรรม แบ่งเป็นสามชั้นจากต่ำขึ้นไป ดังนี้ ศาลชั้นต้น ประกอบด้วย ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลครอบครัว, ศาลอุทธรณ์ เรียก ศาลสูง, และศาลสูงสุด เรียก ศาลสูงสุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น